วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

Company background

เบียร์ภูเก็ต
·      Company Background
     หากความสำเร็จจากการแจ้งเกิดของค่ายเพลงอินดี้ คือ การขายแนวดนตรีที่โดดเด่น ชูความเป็นตัวของตัวเอง แทรกตัวเข้ามาในช่องว่างตลาดที่เต็มไปด้วยการฟาดฟันของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่  ภูเก็ตเบียร์ ก็คงไม่ต่างจาก"ค่ายเบียร์อินดี้"น้องใหม่ ที่กำลังแจ้งเกิดบนความแตกต่าง และสร้างสีสันทางเลือกใหม่ๆ ให้กับคนดื่ม บนความท้าทายในธุรกิจเบียร์...ธุรกิจที่ดูจะเป็นสนามรบของรายใหญ่ และเต็มไปด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่"ทุนหนา" เมื่อ 3 หุ้นส่วน มนูญ เลิศโกมลสุข , จุลศักดิ์ ยมะสมิต และ โอภาส โอสถานนท์ กอดคอกันมาลุยธุรกิจ"ภูเก็ตเบียร์" กันเต็มตัว งานนี้ ไม่ใช่แค่ใจรัก แต่ต้องใจสู้เกินร้อย
   แบ็คกราวนด์ของหุ้นส่วนภูเก็ตเบียร์แต่ละคน นับว่าไม่ธรรมดา หนึ่งในหุ้นส่วน คือ โอภาส ที่พกเอาประสบการณ์และโนว์ฮาวที่เคยคุมงานด้านการผลิตเบียร์ ออกมาลุยธุรกิจใหม่เอง ภายหลังที่โรงเบียร์ไทยอมฤตของตระกูล ต้องขายกิจการไปให้กับบริษัทซานมิเกล หุ้นส่วนอีกคน คือ มนูญ อดีตเคยเป็นผู้บริหารบริษัทไฟแนนซ์มีชื่อแห่งหนึ่ง ที่เฟดตัวเองออกจากยุทธจักร หันมาแทคทีมกับจุลศักดิ์ ร่วมทำธุรกิจเบียร์ด้วยกัน   
    จุลศักดิ์ โต้โผใหญ่ภูเก็ตเบียร์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นแรกๆ ของธุรกิจ ทำจากความสนุกในกลุ่มพรรคพวกมากกว่า  " ไม่ได้ตั้งใจที่จะไปลุยโลก และที่มาของชื่อภูเก็ตเบียร์ มาจากตอนนั้นเราอยู่กันที่นั่น และคนนิยมมาเที่ยวกันที่ภูเก็ต ต้องการที่จะเผยแพร่ชื่อเสียงของจังหวัดภูเก็ตและสินค้าของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก  ภูเก็ตเบียร์มีฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งในพื้นที่ภูเก็ตเพราะนักท่องเที่ยวแทบทุกคนที่เข้ามาในพื้นที่นี้ต้องลองดื่ม แม้จะแพงกว่าเบียร์พรีเมียมอย่างไฮเนเก้นขวดละ 10-14 บาทก็ตาม แต่ภูเก็ตเบียร์มีองค์ประกอบที่แตกต่างและน่าสนใจกว่าทุกแบรนด์ เช่น ชื่อที่ไม่เหมือนใคร , แหลมพรหมเทพ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของเกาะภูเก็ตก็จับมาดีไซน์บนขวดเบียร์สะท้อนถึงบรรยากาศแห่งการพักผ่อนแต่เพราะรสชาติที่คนดื่มแล้วอร่อยติดใจ เลยกลายเป็นการจุดกระแส แนะนำต่อๆ กันไปแบบปากต่อปากและเข้าไปวางขายตามโรงแรม และร้านอาหารบนเกาะภูเก็ต ต่อมาเส้นทางการขยายตัวจึงเกิดขึ้นจากภูเก็ตเข้ากรุงเทพฯ เช่น ร้าน อาหารญี่ปุ่นฟูจิ และโรงแรมห้าดาวบางแห่ง
    การแจ้งเกิดของ"รายใหม่" และยิ่งเป็น"รายเล็ก" ในธุรกิจเบียร์ ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อเทียบกับบริษัทเบียร์อื่นๆ ในโลก บางบริษัทเดินข้ามประวัติที่ยาวนานมีอายุนับร้อยปี บางบริษัทมีอายุไม่ต่ำกว่าหลายสิบปี มีทั้งกำลังทุน กำลังทางธุรกิจ ด้วยสเกลการลงทุนระดับร้อยล้านพันล้าน รายใหม่ในธุรกิจเบียร์เกิดยาก แต่ถ้าลงหลักปักฐานได้เมื่อไร ธุรกิจนี้ก็มีอนาคตไปได้ยาว นี่จึงเป็นความท้าทายสำหรับภูเก็ตเบียร์ ซึ่ง มนูญ บอกว่า ตั้งแต่เริ่มทำมา พวกเขาต้องลงทุนกันเอง และเป็นหนี้มาโดยตลอด

   "ธุรกิจนี้ ไม่ใช่มรดกจากพ่อแม่ แต่เป็นธุรกิจที่เริ่มมาจากเลือดเนื้อ และชีวิตของเราเลย " มนูญ บอกถึงความทุ่มเท  บนทางที่ธุรกิจที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และภายใต้เงื่อนไขของทุนที่จำกัด ภูเก็ตเบียร์ ทำตลาด โดยที่ไม่มีโรงงานเอง แต่อาศัยการว่าจ้างโรงงานเบียร์ซานมิเกล ที่ จ.ปทุมธานี เป็นผู้ผลิตให้ ซึ่งการผลิตต่อครั้ง มีเงื่อนไขปริมาณขั้นต่ำต้องสั่งผลิตไม่น้อยกว่า 5 หมื่นลิตรขึ้นไป 
    ปัจจุบัน ตลาดต่างประเทศ เป็นตลาดหลักถึง 80-90% ที่สร้างรายได้ให้กับภูเก็ตเบียร์ อาศัยการลุยแบบถึงลูกถึงคนของทุกๆ คนในบริษัท ที่ต่างต้องสวมบทบาทเป็นเซลส์บินไปบุกตลาดต่างประเทศกันถ้วนหน้า ภายใต้บริษัท ทรอปปิคอล เบฟเวอร์เรจ (อินเตอร์เนชั่นแนล) จำกัด ที่ทำหน้าที่ดูแลการผลิตและส่งออกในรูปเบียร์บรรจุขวดขนาด 330 มิลลิลิตร กระจายไปเกือบ 20 ประเทศ อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทลูกอีก 1 แห่ง คือ บริษัท เจิดเจริญ จำกัด ทำหน้าที่ดูแลการจำหน่ายในประเทศไทย เหตุผลที่เน้นตลาดส่งออกก่อน ส่วนหนึ่งเพราะตลาดต่างประเทศมีขนาดใหญ่ ขณะที่การทำธุรกิจเบียร์ต้องใช้เงินทุนสูง เมื่อทุนน้อยการเริ่มจากบุกตลาดข้างนอก ก่อนเข้ามาข้างในจึงน่าจะดีกว่า นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญคือ การขายเบียร์ในประเทศต้องโดนเก็บภาษีสรรพสามิตที่สูงถึง 62%
    ตลาดอเมริกา และญี่ปุ่น เป็น 2 ตลาดขนาดใหญ่ ที่มีกระแสตอบรับค่อนข้างสูง โดยในอเมริกา มีบริษัท ภูเก็ตเบียร์ยูเอสเอ เป็นผู้จัดจำหน่าย ซึ่งพาร์ทเนอร์ที่เข้ามาเป็นเอเย่นต์ เป็นเพื่อนของมนูญ ในอเมริกาที่แบ็คกราวนด์เดิมอยู่วงการไฟแนนซ์มาก่อน " การเป็นเอเย่นต์เบียร์ในอเมริกาไม่ง่าย เพราะต้องขอใบอนุญาตซึ่งใช้เวลาเป็นปี และแต่ละรัฐมีกฎหมายที่ต่างกัน" มนูญ บอก แต่อเมริกา เป็นตลาดที่ค่อนข้างเสรี และมีมาตรการทางกฎหมายที่ป้องกันการผูกขาดของรายใหญ่ ทั้งเรื่องการดั๊มพ์ราคา การตีกันคู่แข่ง หรือแจกของแถม จึงค่อนข้างเอื้อโอกาสสำหรับรายเล็กที่จะเข้าไปในตลาด  ตอนนี้ ถ้าคนในซานฟรานซิสโก นึกอยากจะดื่มภูเก็ตเบียร์สักขวด สามารถเข้าไปซื้อง่ายๆ ได้ที่ร้าน Beberages & more เชนไวน์และเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในแคลิฟอร์เนียร์ และตามภัตตาคารไฮเอนด์
   มนูญ เล่าว่า ตอนไปอเมริกาใหม่ๆ สำหรับเบียร์ไทยยี่ห้อใหม่แล้ว ยากที่ร้านอาหารไทยจะอ้าแขนรับเพราะไม่รู้จัก เขาเลยต้องใช้วิธีพลิกการตลาดมุมกลับ หันไปเจาะร้านอาหารระดับไฮเอนด์จนสามารถเข้าไปวางในภัตตาคารจีนสุดหรูชื่อดัง และนั่นจึงทำให้ร้านอาหารไทย เริ่มหันมาเปิดประตูรับเอาภูเก็ตเบียร์เข้ามาขายในร้านบ้าง  " แต่คนดื่มภูเก็ตเบียร์ ไม่ใช่คนที่ดื่มเบียร์สิงห์ เป็นคนละกลุ่ม ถึงเราเข้าไปขาย แต่ยอดเบียร์สิงห์ก็ไม่ได้ตก" จุลศักดิ์ ย้ำ ตลาดอเมริกาเป็นตลาดส่งออกที่มาแรง เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนคาดว่าจะแซงหน้าตลาดญี่ปุ่น ที่ภูเก็ตเบียร์ บุกเข้าไปทำตลาดก่อน
   การทำตลาดต่างประเทศ เอเย่นต์มีบทบาทอย่างมากต่อความสำเร็จ แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ทั้งอเมริกาและญี่ปุ่น รวมถึงในอีกหลายประเทศ เอเย่นต์ของภูเก็ตเบียร์ ล้วนแต่ไม่มีแบ็คกราวนด์ขายเบียร์มาก่อน" ถ้าเป็นเบียร์อื่น คงไม่เลือกบุคคลอย่างที่เราเลือก แต่เพราะเราให้โอกาส เขาจึงทุ่มทำงานหนักกว่าคนอื่น"
  นอกจากนี้ ภูเก็ตเบียร์ จะไม่เข้าไปแย่งเอเย่นต์จากใครที่ทำตลาดให้กับเบียร์ในเซ็กเมนท์เดียวกัน เพราะยึดหลักว่า ถ้าคุณเป็นเอเย่นต์ขายรถเบนซ์ ก็ไม่ควรขายบีเอ็มฯ จุลศักดิ์ บอก ซึ่งถ้าภูเก็ตเบียร์ เป็นรถ ก็คงเป็นรถมินิ ไม่ใช่เบนซ์คลาสสิก หรือบีเอ็มฯ " หลายประเทศที่ไป ลูกค้าแรกๆ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ร้านอาหารไทย อาจเป็นร้านอาหารแบบฟิวชั่นฟู้ดบ้าง หรือบูติคโฮเทลบ้าง "
  อีกหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้สินค้าได้รับการยอมรับ รสชาติของเบียร์ มีส่วนไม่น้อยต่อความสำเร็จ ชาวต่างชาติบางคนเคยดื่มภูเก็ตเบียร์ในต่างประเทศ และมาถามหาที่ภูเก็ต ขณะที่นักท่องเที่ยวบางคน เคยซื้อเบียร์ภูเก็ตที่เมืองไทย และติดใจในรสชาติ จนกระทั่งจากแรงยุของคนในวงการเบียร์ด้วยกัน ให้ลองส่งเบียร์เข้าประกวดในเวทีระดับนานาชาติ จนในที่สุด ความพยายามของภูเก็ตเบียร์ ก็ประสบความสำเร็จเป็นเบียร์จากประเทศไทย ที่ก้าวไปคว้ารางวัลเหรียญทอง สถาบัน Monde Selection ประจำปี 2006 ที่ประเทศเบลเยียม เมื่อเร็วๆ นี้  รางวัลครั้งนี้ ไม่ต่างจากเครื่องการันตี และกำลังใจสำคัญ ที่ทำให้ทั้ง 3 หุ้นส่วนมั่นใจในตัวธุรกิจของภูเก็ตเบียร์ และกลายเป็นจุดขายใหม่ ที่ช่วยในการ    โปรโมทคุณภาพและรสชาติเบียร์ว่าไม่น้อยหน้าใคร ที่สำคัญ คือ น่าจะเป็นแรงเข้ามากระตุ้นยอดขายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยจุลศักดิ์ คาดว่า ตัวเลขการผลิตน่าจะสามารถขยับเพิ่มได้อีกถึง 50% โดยนับจากนี้ไปครบรอบปี คาดว่ายอดส่งออกน่าจะถึง 4-5 หมื่นลัง
  ทั้งหมดนี้ ทั้ง 3 หุ้นส่วนต้องการให้ตลาดเติบโตไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมการผลิต และการทำตลาดได้อย่างสมดุล และอนาคตยังมีแผนเพิ่มการผลิตเบียร์แบบบรรจุกระป๋อง เพื่อความสะดวกในการขนส่ง และวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตในต่างประเทศ
  ส่วนตลาดในเมืองไทยนั้น ตอนนี้ นอกจากวางขายที่ในกรุงเทพฯ และภูเก็ตแล้ว ยังเตรียมขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียงที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น กระบี่ พังงา โดยวางขายตามโรงแรม และร้านอาหารระดับไฮเอนด์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น